ประวัติพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)

     พระยาศรีสุนทรโวหาร เดิมชื่อน้อย เกิดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2365 ที่บ้านคลองโสธร อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นบุตรของนายทองดีและนางบัว เมื่ออายุ 6-7 ปี เริ่มเรียนหนังสือไทยกับพระพี่ชายคนโตซึ่งจำพรรษาที่วัดโสธร อายุ 13 ปี ได้ย้ายไปอยู่กับสามเณรทัด (น้าชาย) ที่วัดสเกษ (วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร) อายุ 14 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ในปี พ.ศ. 2386 เมื่ออายุ 21 ปี ได้อุปสมบท และเมื่อบวชได้ 3 พรรษา สอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดทั้งพระอารามและสร้างภูเขาทอง

ปัจจุบันยังมีกุฎิมหาน้อยซึ่งทางวัดได้อนุรักษ์ไว้ เมื่อบวชได้ 6 พรรษาสอบได้ เปรียญธรรม 7 ประโยค
     พ.ศ. 2395     พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงผนวชได้แต่งตั้งให้เป็นพระราชาคณะ (สามัญ) ที่พระประสิทธิสุตคุณ
     พ.ศ. 2396     ได้ลาสิกขา ถวายตัวเป็นมหาดเล็กเวรศักดิ์ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
     พ.ศ. 2397     เป็นขุนประสิทธิอักษรสาตร ผู้ช่วยเจ้ากรมพระอาลักษณ์ และว่าที่เจ้ากรมอักษรพิมพการที่ว่างอยู่
     พ.ศ. 2411     ตามเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาดังที่ทรงคำนวณไว้ที่ ต.หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เลื่อนเป็นขุนสารประเสริฐเป็นผู้ขนานนาม ช้างเผือกและนิพนธ์ฉันท์กล่อมช้างพระเสวตรวรวรรณ รวมนิพนธ์ฉันท์กล่อมช้าง 8 บท ของช้างเผือก 10 ช้าง
     พ.ศ. 2412     นิพนธ์หนังสือแบบเรียนภาษาไทย คือ มูลบทบรรพกิจ วาหนิติ์นิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน พิศาลการันต์
     พ.ศ. 2413     เป็นหลวงสารประเสริฐ เป็นครูสอนหนังสือไทยที่กรมทหารมหาดเล็ก
     พ.ศ. 2414     เป็นอาจารย์ใหญ่คนแรกของโรงเรียนหลวง และเป็นครูสอนหนังสือไทย

     พ.ศ. 2416     ได้นิพนธ์หนังสือไวพจน์พิจารณ์ รวมเป็นชุดแบบเรียนหลวง 6 เล่ม และหนังสืออื่นอีกหลายเล่ม
     พ.ศ. 2418     เป็น “พระศรีสุนทรโวหาร” เจ้ากรมพระอาลักษณ์
     พ.ศ. 2422     เป็น 1 ใน 8 กรรมการควบคุมจัดการโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ “โรงเรียนนันทอุทยาน” และเป็นแม่กองตรวจโคลง และร่วมแต่งโคลงบรรยายภาพรามเกียรติ์เพื่อจารึกบนแผ่นศิลาติดที่เสาระเบียงพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
     พ.ศ. 2425     นิพนธ์หนังสืออีกหลายเล่ม ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา เป็นที่หมายว่าเป็นผู้มีความรู้พิเศษ ต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาศรีสุนทรโวหาร ญาณปรีชามาตย์ บรมนารถนิตยภักดี พิริยพาหะ
     พ.ศ. 2426     เป็นพระอาจารย์ถวายอักษรสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้า และพระเจ้าลูกยาเธออีกหลายพระองค์ อีกทั้งยังมีงานอื่น ๆ เช่น เป็นองคมนตรีที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน เลขานุการสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน เลขานุการองคมนตรีสภา กรรมการสอบไล่หนังสือไทยชั้นสูง กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณ กรรมการจัดพิมพ์พระไตรปิฎก ท่านมีผลงานนิพนธ์รวม 33 เรื่อง
พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) สมรสกับคุณหญิงแย้ม มีบุตรธิดา 6 คน
     พ.ศ. 2434     ท่านป่วยด้วยโรคชราและถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2434 สิริอายุ 69 ปี
     พ.ศ. 2438     พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2438
ณ วัดสเกษ (วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร)

ท่านได้รับคำยกย่องดังนี้
     “ศาลฎีกาภาษาไทย” โดยพระราชวรวงศ์เธอพระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (น.ม.ส.)
     “จินตกวีชั้นสูง” โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
     “ปราชญ์ภาษาไทย” โดยคนทั่วไปในยุคหลัง